มาเรียนรู้การกินยาแก้ปวดให้ถูกวิธีกันเถอะ

โดยปกติเมื่อคนเราเกิดอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกมีอาการไม่สบายตัวมักจะรักษาอาการเบื้องต้นด้วยการกินยาแก้ปวดลดไข้ แต่รู้หรือไม่ว่ายาแก้ปวดลดไข้ที่เรากินเข้าไปบ่อยๆ นั้น มีอยู่หลายชนิด จนทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่า แล้วอย่างนี้ควรจะกินยาแบบไหนให้ตรงกับอาการที่เป็นอยู่ถึงจะถูกต้องที่สุด

“ยาระงับปวด” หรือ “ยาแก้ปวด” คือ ยาชนิดต่างๆ ที่ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการปวดที่มีตั้งแต่ปวดแบบไม่รุนแรงไปจนถึงอาการปวดแบบรุนแรง ซึ่งอาการปวดมีหลายรูปแบบ เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น การกินยาแก้ปวดจึงถือเป็นวิธีแรกที่คนเราเลือกใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดต่างๆ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มง่ายๆ ดังนี้

  1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) จัดเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการปวดได้ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น
  2. ยาเอ็นเสด (NSAIDs) จัดเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ และยาต้านการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเช่น โรคข้ออักเสบต่างๆ โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเกาต์ ปวดศีรษะ ไมเกรน เป็นต้น สามารถรักษาอาการปวดได้ในระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรง 
  3. กลุ่มยาแก้ปวดชนิดเสพติด เช่น มอร์ฟีน (Morphine) และโคเดอีน (Codeine) ที่มีฤทธิ์กดประสาท ซึ่งการใช้ยากลุ่มนี้ถูกจำกัดในการใช้ และต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
  4. กลุ่มสารเฉพาะ ที่ใช้รักษาอาการปวดเฉพาะกลุ่ม เช่น อาการปวดจากระบบประสาท

โดยทั่วไปแล้วยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอลจะเป็นชนิดที่คนนิยมใช้มากที่สุด เพราะเป็นยาที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร สามารถรับประทานขณะท้องว่างได้ จึงสามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ก็มีการจำกัดปริมาณที่ควรรับประทานไว้ด้วยเช่นกัน

ซึ่ง*ขนาดยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมคือ 10 – 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยรับประทานทุก 6 ชั่วโมง ดังนั้นการรับประทานยาจึงควรให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว เช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรรับประทานเท่ากับ 500 – 750 มิลลิกรัม (ก็คือพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด หรือไม่เกินเม็ดครึ่งต่อครั้งนั่นเอง) และไม่ควรรับประทานยาเกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 5 วัน 

และข้อควรรรู้อีกอย่างหนึ่งก็คือหากใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนานเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย และอาจเป็นพิษต่อตับจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ส่วนผลข้างเคียงที่สามารถพบได้โดยทั่วไปคือการเกิดผื่นคัน บวมตามอวัยวะต่างๆ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดจากการแพ้ยา ดังนั้นควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ในทันที

ด้านความปลอดภัยจากการใช้ยาก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะยาทุกชนิดให้ทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นควรระวังเป็นพิเศษหากต้องใช้ยาพาราเซตามอลในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับหรือไต และผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยาชนิดนี้ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้เกิดภาวะตับล้มเหลวได้ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอนะคะ

สนับสนุนความรู้ดี ๆ จากยาบรรเทาอาการปวด และลดไข้เม็ดสีเหลืองจากบาคามอล (BAKAMOL)

* ที่มาของข้อมูลเรื่อง การใช้และปัญหาจากยาใกล้ตัว : ทำความรู้จักยาพาราเซตามอล (paracetamol)
จาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี
(https://goo.gl/RVNd7P)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.