ลำไส้แปรปรวน ภัยร้ายคนรุ่นใหม่

ลำไส้แปรปรวน ภัยร้ายคนรุ่นใหม่

รู้จัก โรคลำไส้แปรปรวน และวิธีแก้ไขอาการด้วยตนเอง

โรคลำไส้แปรปรวน หรือไอบีเอส (IBS - Irritable Bowel Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดร่วมกันหลายอาการ มีสาเหตุมาจากลำไส้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้เร็วกว่าปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยหรือใต้สะดือ ร่วมกับมีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือท้องเสียสลับท้องผูก อาจมีมูกปนในอุจจาระ อาการปวดจะหายไปหลังจากขับถ่าย อาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง หรือเรอด้วย

ส่วนใหญ่อาการปวดท้องจะเกิดขึ้นตอนเช้าหรือหลังจากกินอาหาร สำหรับคุณผู้หญิงจะมีอาการปวดท้องมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือน

โรคร้าย…แต่ไม่ใช่ลำไส้แปรปรวน

เพราะลำไส้แปรปรวนมีหลายอาการร่วมกันอาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่า อาการที่กำเริบอยู่เป็นลำไส้แปรปรวนใช่หรือไม่ เรามีวิธีสังเกตอาการผิดปกติที่ส่อว่าอาจเป็นโรคร้าย เช่น กระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ แต่ไม่ใช่อาการของลำไส้แปรปรวน ดังนี้

มีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นไข้ มีเลือดปนในอุจจาระ ซีด โลหิตจาง น้ำหนักลด หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

โรคลำไส้แปรปรวน

เจาะหาสาเหตุลำไส้แปรปรวน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุก่อโรคลำไส้แปรปรวนแน่ชัด ดร.ดักลาส เอ. ดรอสแมน (Dr. Douglas

A. Drossman) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านช่องท้องอดีตผู้อำนวยการร่วม UNC Center for Functional GI and Motility Disorders และประธาน Drossman Center for the Education and Practice of Integrated Care LLC กล่าวว่า

“ความเครียดกับโรคลำไส้แปรปรวนมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก”

อารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความโกรธความตื่นเต้น ความเครียด ความเศร้า ฯลฯ ล้วนมีผลโดยตรงต่อระบบย่อยอาหาร เพราะจะทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวผิดปกติ ผู้ที่เกิดความตื่นเต้น เช่น กำลังจะขึ้นเวทีต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรก หรือคนที่จู่ๆ ก็มีเหตุให้เครียดจัด มักจะรู้สึกปวดท้องขึ้นมาทันที

อาการลำไส้แปรปรวนนอกจากจะถูกกระตุ้นจากความเครียดได้ง่ายแล้ว ยังมีอาหารเป็นตัวกระตุ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมันสูง เนื้อสัตว์ อาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมาก เช่น กะหล่ำปลี นม หอมหัวใหญ่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาและฮอร์โมนบางชนิดก็เป็นตัวกระตุ้นอาการลำไส้แปรปรวนได้เช่นกัน

โปรดสังเกตว่า ทั้งกรดไหลย้อนและลำไส้แปรปรวนมีตัวกระตุ้นให้เกิดคล้ายกัน นั่นคืออาหาร ความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน และความเครียด

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

สมุนไพรบำบัดสุขภาพท้อง

หนังสือสมุนไพรน่ารู้โดยรองศาสตราจารย์ดร.วันดี กฤษณพันธ์ กล่าวถึงสมุนไพรหลายชนิดที่ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด และแก้โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ดังนี้

กะเพรา ใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ รักษาแผลในกระเพาะอาหารและรักษาโรคหืดได้

กล้วยน้ำว้า จัดเป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ ช่วยรักษาอาการท้องเสีย โดยกินผลห่ามครั้งละ - 1 ผล หากมีอาการท้องอืดร่วมด้วยให้ดื่มน้ำขิง ส่วนการแก้อาการท้องผูกให้กินกล้วยน้ำว้าสุกวันละ 2 - 4 ผล

โรคลำไส้แปรปรวน

ขิง ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และยังมีเอนไซม์ช่วยย่อยเนื้อสัตว์ การดื่มน้ำขิงหลังอาหารจะช่วยขับลมได้ดี

ขมิ้นชัน แก้อาการท้องอืด เฟ้อ และจุกเสียด โดยตำขมิ้นชันสดให้ละเอียด จากนั้นคั้นเฉพาะน้ำแล้วนำมาผสมกับน้ำต้มสุกในอัตราส่วนเท่ากัน กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน หรือจะกินขมิ้นชันชนิดแคปซูลก็ได้

กระชาย แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม และท้องเสีย วิธีทำอย่างง่าย ๆ คือ ทุบกระชายน้ำหนัก 5 - 10 กรัมพอแตก นำไปต้มกับน้ำ ดื่มแก้อาการ หรือปรุงเป็นอาหาร ในเมนูนั้นพยายามใช้พริกให้น้อย เพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหารและลำไส้

ตะไคร้ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลม นำตะไคร้น้ำหนัก 40 กรัมไปต้มกับน้ำ ดื่มแก้อาการ หรือจะปรุงเป็นอาหารก็ได้

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

แก้ลำไส้แปรปรวนด้วยตัวเอง

การดูแลอาการลำไส้แปรปรวนด้วยตนเองต้องเริ่มจากการหาสาเหตุของโรคก่อน ดร.ดรอสแมนแนะนำว่า ควรจดบันทึกพฤติกรรมหรือสถานการณ์ในวันนั้นๆ ไว้อย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุก่อโรค และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

โรคลำไส้แปรปรวน

1. ลดการกินเนื้อสัตว์หรือไข่ซึ่งเป็นโปรตีนย่อยยากควรกินโปรตีนจากเต้าหู้ ถั่วเหลือง และเนื้อปลาซึ่งย่อยง่าย

2. หลีกเลี่ยงการกินของทอด อาหารมัน ๆ หรือขนมเบเกอรี่ที่อุดมไปด้วยนม เนย

3. ไม่ควรกินแป้งขัดขาว เช่น ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยวควรกินธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เส้นโฮลวีต เมล็ดถั่ว งา

4. เลี่ยงการกินอาหารรสจัดซึ่งทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสเผ็ดและเปรี้ยวจำพวกเมนูยำ น้ำส้ม น้ำมะนาว

5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกชา กาแฟ เหล้า เบียร์และน้ำเย็นจัด ควรดื่มน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่นวันละ 6 - 8 แก้ว

6. กินอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง โดยปรับจากมื้อใหญ่ 3 มื้อ เป็นมื้อย่อย 4 - 5 มื้อแทน โดยเน้นกินผักผลไม้ที่มีใยอาหารมาก

7. ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การรำกระบองฝึกโยคะ ฝึกชี่กง ก็จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่ร่างกายและช่วยลดความเครียดลงได้

8. สู้ลำไส้แปรปรวนสไตล์ชีวจิต อาจารย์สาทิสแนะนำวิธีแก้ลำไส้แปรปรวนไว้ดังนี้

งดการกินอาหารรสจัดและกินอาหารชีวจิต ทำดีท็อกซ์อย่างน้อย 3 วัน และกินยาธาตุบรรจบครั้งละ 3 - 5 เม็ดและขมิ้นชันครั้งละ 3 - 5 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 383

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.