พาร์กินสัน

ออกกำลังกายวันละนิด พิชิต พาร์กินสัน

ออกกำลังกายวันละนิด พิชิต พาร์กินสัน

ร่างกายคนเราเมื่อเข้าสู่วัยชราย่อมเป็นธรรมดาที่โรคภัยไข้เจ็บจะมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งหนึ่งในจำนวนหลายๆ โรค ก็คือ พาร์กินสัน หรือที่บางคนคุ้นชินในชื่อ “สันนิบาตลูกนก” อันเกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ร่างกายมีอาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า

แม้ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่ว่านี้จะยังไม่แซง โรคยอดฮิตในวัยชราอย่างอัลไซเมอร์ แต่จากข้อมูลของสภากาชาดไทยพบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคพาร์กินสันในคนไทยอยู่ที่ 425 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังเป็นโรคเรื้อรังที่บั่นทอนสุขภาพกายใจ และกลายเป็นปมด้อยของผู้ป่วยหลายต่อหลายคน

ต่างจากคุณอุไรวรรณ ธนสถิตย์ หรืออาจารย์น้อย วัย 64 ปี ที่ยินดีและเต็มใจแบ่งปัน “ประสบการณ์สุขภาพ” ให้เราฟัง นั่นเพราะเธอเชื่อว่า …เป็นพาร์กินสันก็ยังฟรุ้งฟริ้งได้ ไม่เห็นต้องอายเลยนะเออ

นอกจากการพึ่งพายาพาร์กินสันที่ต้องกินไปตลอดชีวิต อาจารย์น้อยยังคงไม่ลดละความพยายามในการหาวิธีบำบัดอาการสั่นเทาและกล้ามเนื้อเกร็งของตัวเองหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ การทำกายภาพบำบัด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษา เพราะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการเกร็ง ตลอดจนช่วยในการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อ

พาร์กินสัน
คุณอุไรวรรณ ธนสถิตย์ หรืออาจารย์น้อย

“ฉันใช้เวลาทำกายภาพภาพบำบัดครั้งละประมาณ1 ชั่วโมง โดยนักกายภาพบำบัดจะเริ่มต้นด้วยการประคบร้อน พอกล้ามเนื้อเริ่มคลายก็มายืดแขนข้างซ้ายที่แข็งโป๊กยกขึ้นยกลง ยืดเข้ายืดออก นวดอย่างแรงและเจ็บมากๆ

“วันแรกทำเสร็จน่วมไปทั้งตัวเหมือนถูกซ้อม เจ็บจนไข้ขึ้น ออกมาจากห้องกายภาพมีความรู้สึกว่าอยากอาเจียน คนป่วยบางคนพอเจอวันแรกก็วิ่งหนีไปเลย ไม่กลับไปทำอีก แต่อย่ากังวลไปนะ พอวันที่สองก็ค่อยยังชั่วปวด”

อาจารย์ผู้ใจดีแนะวิธีสำหรับน้องใหม่พาร์กินสัน ซึ่งหลังจากกัดฟันสู้กับการกายภาพบำบัดสุดหฤโหดได้เพียง 7 วัน ร่างกายซีกซ้ายของท่านที่เคยแข็งเกร็งก็กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ไม่เพียงเท่านี้ อาจารย์น้อยยังคงทุ่มเทเวลาในแต่ละวันให้กับการออกกำลังกายเพื่อหวังเอาชนะโรคพาร์กินสันอีกทางหนึ่ง

“ต้องออกกำลังกาย ท่องไว้เลย ออกกำลังกาย ออกกำลังกาย และออกกำลังกาย การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยพาร์กินสันได้ดีมาก เช่น การเดิน การฝึกใช้แขนและมือ ทำงานบ้านเบาๆ ถ้าอยากมีแรงต้องออกแรง ถ้านั่งๆ นอนๆ เป็นเจ้าคุณหรือคุณนายเสร็จคุณพาร์แกแน่เลย”

อาจารย์น้อยยังแนะนำเคล็ดลับส่วนตัว(ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์) ให้ฟังอีกว่า ทุกเช้าก่อนอาบน้ำไปทำงาน ท่านจะลงมือกวาดใบไม้ในสนาม เก็บอึน้องหมา 4 ตัว และออกกำลังกายแขนด้วยการแกว่งแขนซ้ายและแขนขวา 360 องศา วันละ 300 ครั้ง ส่วนช่วงเย็น ก็จะเดินสูดอากาศบริสุทธิ์ในสวนสาธารณะวันละ 1 ชั่วโมง ที่สำคัญคือต้องพักผ่อนให้เพียงพอpic%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a22

“ฉันจะนอนหัวค่ำ เข้านอน 3–4 ทุ่ม ต้องนอนให้ได้ประมาณวันละ 7-8 ชั่วโมง เป็นพาร์กินสันถ้ายังไม่นอนไม่หลับอีกจะเหมือนไปยืนอยู่ปากเหวนรกเลย เวลานอนมือข้างที่สั่นนั้นก็ยึดหมอนข้าง นอนกอดหมอนไว้ ถ้ามีอะไรยึดในมือเขาจะสั่นน้อยลง และต้องนอนในห้องที่เงียบ มืดสนิท ไม่เปิดทีวี ไม่เล่นคอมพิวเตอร์หรือไอแพดก่อนนอนเพราะจะยิ่งทำให้นอนไม่หลับไปกันใหญ่ การสวดมนต์ก่อนนอนก็ช่วยให้กายและใจสงบขึ้นเยอะค่ะ”

บทสนทนาจบลงพร้อมรอยยิ้มแจ่มใสของอาจารย์น้อย นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า “เป็นพาร์กินสันก็ยังฟรุ้งฟริ้งได้”จริงๆ

อ้างอิง

คอลัมน์ ประสบการณ์สุขภาพ นิตยสารชีวจิต

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.