ซุปถั่วดำ ตำรับอาหารสมุนไพรจีนป้องกัน “มะเร็งรังไข่”

อาหารสมุนไพรจีนป้องกันมะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) เป็นมะเร็งที่พบว่าเกิดได้บ่อยกับสตรีทั่วโลกรวมทั้งในผู้หญิงไทย (เป็น 1 ใน 10 โรคมะเร็งพบบ่อย) พบได้ทั้งในเด็กโตและในผู้ใหญ่

รังไข่ (Ovary) เป็นอวัยวะคู่มีทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นอวัยวะอยู่ในช่องท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) และอยู่ในระบบสืบพันธุ์เฉพาะของผู้หญิง มีหน้าที่สร้างไข่เพื่อการผสมพันธุ์และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง

ปัจจัยเสี่ยงก่อโรคที่เกี่ยวข้อง

ความผิดปกติทางพันธุกรรม โอกาสพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเต้านมและ / หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักพบโรคในอายุ 50 ปีขึ้นไป

พบโรคในคนอ้วนสูงกว่าในคนผอม และมีโอกาสพบโรคนี้ได้สูงในสตรีที่มีประจำเดือนเร็วคืออายุต่ำกว่า 12 ปี หรือหมดประจำเดือนช้าคือช้ากว่าอายุ 55 ปี

มีประวัติจากการใช้ยากระตุ้นการตกไข่ ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือใช้ยาฮอร์โมนเพศชดเชยในช่วงวัยหมดประจำเดือน

จากสถิติพบว่าผู้ที่มาพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ส่วนใหญ่มักป่วยอยู่ในระยะที่ 3 มากที่สุดนั่นหมายถึงมักตรวจพบและได้รับการรักษาในระยะโรคลุกลามแล้วเพราะภาวะเริ่มต้นของโรคนี้มักมีอาการแค่ท้องอืดเสียดแน่นอาหารไม่ย่อย ท้องโตขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ทำให้รักษาผิดทาง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ต้องใช้วิธีตรวจภายในและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งมักคลำพบก้อนที่ปีกมดลูก ส่วนใหญ่ต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) บางกรณีที่ต้องการประเมินว่าโรคลุกลามไปอวัยวะส่วนอื่นในช่องท้องว่ามากน้อยเพียงใด อาจต้องส่งตรวจอย่างละเอียดยิ่งขึ้น เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT หรือ MRI รวมถึงการเจาะเลือดหาค่าบ่งมะเร็ง (Tumor Marker) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและตรวจติดตามผลการรักษา ซึ่งการรักษาจะเน้นการผ่าตัด ฉายแสงและเคมีบำบัด ตามระยะของโรค
และสภาพความเป็นจริงของผู้ป่วย

โรคมะเร็งรังไข่ ในทัศนะแพทย์แผนจีนมองว่า เกิดจากความเสียสมดุลของภาวะร้อนเย็นและพลังของอวัยวะภายในพร่อง การย่อยสลายดูดซึมอาหารและน้ำไม่สมบูรณ์ เกิดสะสมตัวเป็นก้อน“症者寒温失节, 致脏腑之气虚
弱,而食饮不消,聚结在内”การป้องกันรักษาจึงเน้นไปที่การขับความชื้น ความร้อนพิษ เสมหะ (การเกาะแน่นของความชื้น) เลือดติดขัด ร่วมกับการปรับสมดุลเลือด พลังหยิน – หยางในร่างกายคือ มีทั้งด้านการขจัดปัจจัยก่อโรค ซึ่งทำให้เกิดก้อนและการปรับการทำงานของอวัยวะภายในควบคู่กันปัจจุบันมักใช้วิธีรักษาควบคู่กันกับแพทย์แผนปัจจุบัน

อาหารป้องกันมะเร็งรังไข่

ถั่วดำ

เนื่องจากสาเหตุโรคมะเร็งรังไข่ไม่แน่ชัด นอกจากปัญหาทางกรรมพันธุ์แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับวัยใกล้หมดประจำเดือนและการกระตุ้นจากฮอร์โมน นอกจากนั้นอาหารที่รับประทานจะต้องย่อยและดูดซึมง่าย ไม่เหนียวเหนอะ เว้นอาหารที่มันเลี่ยนมีส่วนประกอบของนมเนย นอกจากนี้อาหารที่ใช้ป้องกันควรมีสรรพคุณขับพิษ ขับชื้น ลดการตกค้างสะสมตัวเป็นก้อน และต้องเน้นอาหารเสริมภูมิคุ้มกันเสริมบำรุงม้ามและไต ได้แก่ ผักสด ผลไม้ เห็ดหอม เห็ดหูหนูขาว สาหร่ายทะเล สาหร่ายสีม่ว ง (จี๋ฉ่า ย – ใส่แกงจืด) มะเขือยาว ถั่วดำ ฯลฯ

ตัวอย่างอาหารป้องกันมะเร็งรังไข่

1. สาหร่ายทะเลสาหร่ายสีม่วง (海带紫菜) ผู้ป่วยมะเร็งมักมีภาวะเลือดเป็นกรด อาหารประเภทสาหร่ายมีส่วนประกอบไอโอดีน แคลเซียม สามารถไปปรับสมดุลความเป็นกรด -ด่างของเลือด และปรับสมดุลของฮอร์โมนเอสโทรเจน

2. มะเขือยาว (茄子) มีฤทธิ์เย็น รสหวาน เข้าส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ มีสรรพคุณขับร้อน ขับพิษหยุดเลือด แก้ปวด อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกาย โดยเฉพาะมะเขือยาวสีม่วงมีวิตามินพี (P) หรือไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoids) ปริมาณมาก ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือดป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว และช่วยยับยั้งการดูดซึมของคอเลสเตอรอลผ่านผนังลำไส้ ทั้งนี้มะเขือยาวสามารถดูดซับน้ำมันจากการทอดได้รวดเร็ว การนำไปใช้จึงควรใช้วิธีอบหรือนึ่งแทนการปรุงผ่านน้ำมัน

3. ถั่วดำ (黑豆) มีฤทธิ์กลางรสหวานเข้าส้นลมปราณม้าม ไต สรรพคุณ ใช้ขับปัสสาวะลดบวม ขับพิษ เสริมหยินบำรุงไต มีสรรพคุณปรับฮอร์โมนเพศ เป็นอาหารชั้นดีในการใช้บำรุงรักษามดลูก เต้านมเส้นผมของสตรี นอกจากนี้ถั่วดำมีสารที่ออกฤทธ์ิยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส ซึ่งช่วยป้องกันและลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้

ตัวอย่างตำรับอาหารสมุนไพรป้องกันมะเร็งรังไข่

ซุปถั่วดำ (黑豆汤)

ซุปถั่วดำ

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่) เตรียม 10 นาที ปรุง 45 นาที

  • ถั่วดำ (黑豆) 250 กรัม
  • น้ำเปล่า 10 ถ้วย

วิธีทำ

ต้มถั่วดำกับน้ำด้วยไฟอ่อนต้มนาน ๆ จนน้ำข้น ดื่มน้ำซุปบ่อย ๆ

สรรพคุณ บำรุงม้าม ขับความชื้นบำรุงพลังส่วนกลาง ลดบวม (本方取黑豆补脾利湿、调中下气之功,用于脚气水肿) ขับพิษ บำรุงไตปรับฮอร์โมน

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 830.00 กิโลแคลอรี
โปรตีน 59.50 กรัม ไขมัน 0.75 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 146.25 กรัม ไฟเบอร์ 27.25 กรัม

โดย : แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมแพทย์แผนจีนประเทศไทย
(www.samluangclinic.com)
เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : พัชราวรรณ
ภาพ : จิรวัฒน์ มหาทรัพย์ถาวร สไตล์ : พิมฝัน ใจสงเคราะห์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.