เบต้าแคโรทีนป้องกันจอตาเสื่อม

ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญ หลายคนที่ดวงตามีปัญหาแม้เพียงข้ามวันก็ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตได้ ดังนั้นการถนอมดวงตาให้อยู่กับเรานานที่สุดไม่เสื่อมก่อนวัยอันควรจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องการใช้งานหรือระวังไม่ให้สิ่งแปลกปลอมทำร้ายดวงตาแล้ว อาหารการกินก็ช่วยชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาได้ดีสาระสำคัญที่หมอกำลังจะกล่าวถึงนี้ก็คือ “เบต้าแคโรทีน” นั่นเอง

เบต้าแคโรทีนมีมากในผักสีเขียว เหลือง แดง หลายคนคงนึกถึงฟักทอง แครอต และผักสีเขียวจัดของไทย เช่น ตำลึงใบย่านาง ผักบุ้ง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่าผักที่ช่วยบำรุงสายตาได้อีกคือบรอกโคลี เคลและเครสส์ของฝรั่ง โดยพบว่าคนที่บริโภคผักกลุ่มนี้อย่างเพียงพอจะมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา (Macular Degeneration) ได้เป็นอย่างดีทีนี้ทางโซนเอเชียเราจะหาผักเคลและเครสส์ได้จากไหน อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ เพราะอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลและเรากินกันบ่อยเสียด้วย นั่นก็คือ “คะน้า” ที่มีชื่อ
เรียกภาษาอังกฤษว่า Chinese Kale เป็นญาติห่าง ๆ กับเคลของฝรั่ง แถมยังสามารถบำรุงสายตาได้ไม่ด้อยไปกว่ากันด้วยพูดถึงตรงนี้คุณคงเริ่มสนใจคะน้าขึ้นมาโดยทันทีเลยใช่ไหมคะ

คะน้า เป็นพืชตระกูลกะหล่ำ (Cruciferae) ได้รับการยกย่องว่าเป็นพืชกลุ่มที่มีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระสูงมากโดยเฉพาะกลุ่มของวิตามินเอ เบต้าแคโรทีนและวิตามินเค ซึ่งมีสรรพคุณทำให้กระดูกแข็งแรงเพราะช่วยจัดการสมดุลแคลเซียมให้เข้าสู่กระดูกแทนที่จะเหลืออยู่ในกระแสเลือดแล้วเป็นเหตุไปพอกพูนที่หลอดเลือด ทำให้เกิดแคลเซียมพลัคที่อาจนำไปสู่อาการหลอดเลือดแข็งตัวและหลอดเลือดเสื่อม (Atherosclerosis)ได้

ในแง่ Doctrine of Signature ของคะน้า ถ้าเราพิจารณาตอนที่คะน้าออกดอก จะพบว่าคะน้าจะมีดอกแบบที่มีกลีบสี่แฉกตามแบบฉบับของพืชตระกูล Cruci Ferae โดยแท้ ดอกไม้อะไรก็ตามที่มีสี่กลีบมัก บ่งบอกว่ามันสัมพันธ์กับธาตุดินค่อนข้างมากที่ปลายช่อดอกของคะน้าจะมีลักษณะคล้ายกับบรอกโคลีขนาดย่อม ๆ ซึ่งมีคนหัวใสนำไปผสมสายพันธุ์กับบรอกโคลีออกมาเป็นบรอกโคลินี (Brocholini) หรือบรอกโคลีแคระ

บรอกโคลีและกะหล่ำดอก คือที่สุดของสายพันธุ์ Cruciferae ที่ส่วนของลำต้นทำตัวประดุจดอกไม้เสียเอง ดูเผิน ๆ เหมือนดอกไม้ที่ไม่ยอมมีสีสันแต่เลือกที่จะเก็บสีเขียวเข้มเอาไว้ในตัวมัน

ในแง่ของกลิ่นและสีสันของดอกที่ผิดเพี้ยนจากพืชตระกูลอื่นจึงเป็น Doctrine of Signature ที่สำคัญ กล่าวคือ พืชตระกูลนี้มีสีสันของดอกที่ค่อนข้างซีดจางกลิ่นก็ไม่ค่อยแรง แต่กลับมีลำต้นและใบที่มีสีเขียวเข้ม ยิ่งในตระกูลกะหล่ำยิ่งมีกลิ่นฉุนของสารประกอบซัลเฟอร์ ทั้งหมดทั้งปวงคือการที่พลังงานของการสังเคราะห์แสงถูกดึงไปเก็บไว้ในใบจนหมด ไม่เหลือไปทำงานเป็นสีสันที่ดอกของมันเลย ดังนั้นจึงสอดคล้องกับการที่พบว่าวิตามินเอ – เบต้าแคโรทีนหรือสารสีแดงที่พบในดอกและผลของพืชส่วนใหญ่มีอยู่ในใบของพืชตระกูลคะน้าปริมาณที่สูงมากและมีวิตามินเคสูง ซึ่งยังช่วยละลายแคลเซียมที่เกาะในหลอดเลือดที่เสื่อม ทำความสะอาดหลอดเลือดที่แข็งตัวได้ดีอีกด้วย

อีกทั้งในใบของพืชกลุ่มนี้ยังพบสารสีในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของจอตา จึงพร้อมจะเข้าไปบำรุงอวัยวะที่ทำงานกับแสงอย่างเช่นดวงตาของมนุษย์ได้ดี ยืนยันด้วยผลวิจัยที่พบว่าเคลหรือคะน้ามีบทบาทช่วยชะลอการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม(Macular Degeneration) นั่นเอง

***เมนูแนะนำบำรุงสายตาคือ Spicy Kale Salmon ดูสูตรที่นี่***

โดย : แพทย์หญิงกอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป แพทย์ธรรมชาติบำบัด Healthy Flavor Clinic Restaurant
เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก สไตล์ : พิมฝัน ใจสงเคราะห์
ภาพประกอบจาก pixabay.com

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.