ป้องกันโรคหัวใจ

7 อาหารที่จะช่วยคุณ ป้องกันโรคหัวใจ

ป้องกันโรคหัวใจ ด้วยอาหาร

ป้องกันโรคหัวใจ ไกลห่างด้วยเมนู “รักหมดใจ” คนเรามีหัวใจดวงเดียวที่ต้องเก็บรักษาไว้ต้องทะนุถนอม ดูแลหวงแหนทั้งในด้านความรักความรู้สึก และการดูแลสุขภาพของหัวใจให้แข็งแรง

การดูแลหัวใจนั้นสัมพันธ์ทั้งกับสภาพจิตใจและการดูแลที่ตัวอวัยวะหัวใจ ในทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมองว่า หัวใจมีความสัมพันธ์กับระบบของธาตุไฟและธาตุลม ถ้าเมื่อใดธาตุไฟกำเริบ(ร้อนเกินควบคุม) ก็ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย ใจร้อน กระวนกระวายร้อนอกร้อนใจ ลุกลี้ลุกลน และส่งผลให้ธาตุลม (ทั้งสุมนาวาตะและลมหทัยวาตะ)กำเริบ ก็เกิดอาการหงุดหงิด วิตกกังวลกระสับกระส่าย รวมถึงนอนไม่หลับและอาจส่งผลต่อระบบความดันโลหิตผิดปกติได้ แต่ที่สำคัญคือทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ การไหลเวียนโลหิต อารมณ์แปรปรวนไม่ปกติ จนทำให้เกิดอาการของโรคหัวใจได้ ซึ่งดิฉันมีวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันตนง่าย ๆ ดังนี้

1. ไม่นอนดึกจนเกินไป (ไม่ควรนอนเกินสี่ทุ่ม) เนื่องจากถ้านอนหลังสี่ทุ่มจะเป็นเวลาของธาตุไฟ อาจทำให้นอนไม่หลับ รู้สึกร้อน หงุดหงิด หรือหลับได้ไม่สนิท เมื่อตื่นตอนเช้าจะยังรู้สึกง่วง สะลึมสะลือ ไม่สดชื่นบางรายมีอาการมึนงงเนื่องจากนอนไม่พอ

2. ควรดื่มน้ำอุ่นหรือนมอุ่นเล็กน้อยก่อนนอน เพราะจะช่วยให้การไหลเวียนต่าง ๆ ดีขึ้น หรือจะเป็นชาเกสรดอกไม้เพื่อช่วยสงบประสาทและทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

3. ไม่ควรรับประทานอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ หรืออาหารไขมัน หรือผักดิบต่าง ๆ มากเกินไปในมื้อเย็น เพราะจะรบกวนระบบไฟธาตุทั้งการย่อย การเผาผลาญและส่งผลให้ธาตุลมที่เกี่ยวกับการย่อยพัดพาได้ไม่สะดวก ทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อยไม่สบายท้องหรือเกิดการสะสมของไขมันได้ง่าย พอนานวันเข้าก็ส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด (ท่อทางเดินของลม) ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ฯลฯ

4. ฝึกหายใจทำสมาธิจากการฟังเพลงบรรเลงและบริหารร่างกายในท่าเหยียดและยืดกล้ามเนื้อการฝึกการหายใจที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดการไหลเวียนที่ดีขึ้น ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อารมณ์ ความดันโลหิตทำให้เกิดการนำเอาพลังงานแฝงสะสมมาใช้และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

5. รับประทานไขมันและอาหารหวานแต่พอประมาณ รับประทานเค็มแต่น้อยรับประทานแป้งพอควรและต้องให้ครบทั้ง 6 หมู่ (เพื่อรักษาสมดุลของธาตุทั้ง 6 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณธาตุ)

6. ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงมีกำลังในการสูบฉีด (การไหลเวียนของลม) ดีขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย นอนหลับได้ดีขึ้น ทำให้หัวใจมีสมรรถภาพที่ดีและแข็งแรง

7. มองโลกในแง่ดี (คิดในทางบวก) จะส่งผลต่อทั้งการทำงานของหัวใจที่ดีและต่ออารมณ์ที่ดี ทำให้มีสติมากขึ้น อาการหงุดหงิด โมโหง่าย กระวนกระวาย นอนไม่หลับก็จะไม่เกิดขึ้นถ้าปฏิบัติตามหลักการนี้

7 ข้อปฏิบัตินี้เป็นวิธีอย่างง่ายที่ทุกคนนำไปปฏิบัติได้และไม่รู้สึกอึดอัดที่จะปฏิบัติแต่ถ้ายังปฏิบัติได้ไม่ครบ ในครั้งนี้มีตัวช่วยที่ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นและดีต่อสุภาพอย่างเมนู “รักหมดใจ” แก้วนี้นั่นเอง

สรรพคุณวัตถุดิบ

ดอกบัวและเกสรบัวหลวง ดอกมะลิช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี
ใบเตย มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอย่างอ่อน
แห้ว ช่วยบำรุงกำลัง แก้ร้อนภายใน
อ้อย บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ

โดย : อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย
เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก สไตล์ : พิมฝัน ใจสงเคราะห์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.