อาหารไทย

อาหารไทย ประโยชน์สารพัด เป็นมิตรต่อระบบทางเดินอาหาร

อาหารไทย กับระบบทางเดินอาหาร

พูดถึงเรื่องปากท้องของคนไทย แน่นอนว่าแทบทุกคนยกให้ อาหารไทย เป็นอันดับหนึ่งในใจ นอกจากรสชาติดีถูกปาก ราคาถูก ยังมีประโยชน์และถูกกับระบบย่อยอาหารของเราอยู่หลายหลากเมนู อยากรู้ว่าทำไม อ่านบทความนี้เลยค่ะ

น้ำพริก,อาหารไทย
ภาพจาก Health&Cuisine

ลักษณะของอาหารไทย

รูปแบบการบริโภคแต่ดั้งเดิมของไทยเน้นการกินอาหารที่ย่อยง่าย ดังคำว่า “กินข้าวกินปลา” และมีการใช้เครื่องเทศในอาหารคาวแทบทุกชนิด เมนูที่โดดเด่นและมีทุกภาค คือ น้ำพริก ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นเครื่องเทศ ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อย ผักที่กินแนมก็มีทั้งผักสดและผักดอง ผักสดเป็นพรีไบโอติก อาหารของจุลินทรีย์ดีในลำไส้ ส่วนผักดองก็มีโพรไบโอติกและกรดอินทรีย์ ช่วยให้จุลินทรีย์ดีในลำไส้เจริญเติบโต ลดปริมาณจุลินทรีย์ก่อโรคลง

ส่วนวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมก็เป็นวิถีการกินอยู่ตามธรรมชาติแบบสังคมเกษตร ต้องลงแรงทำงานในเรือกสวนไร่นาทุกวัน ร่างกายได้เคลื่อนไหวเป็นประจำ ทำให้ลำไส้ได้รับการกระตุ้น ลดปัญหาขับถ่ายลำบาก

สบายท้องด้วยข้าว- ปลา- ผัก – น้ำพริก

อาหารการกินแบบวิถีไทยดั้งเดิมช่วยให้แข็งแรง อายุยืน พิสูจน์ได้จากข้อมูลอาหารจานโปรดของบุคคลที่อายุยืนที่สุดในประเทศ ตัวอย่างแรกคือ นางสาย เวียงแก้ว อายุ125 ปี ชาวหมู่บ้านโคกสูง ตำบลน้ำพองจังหวัดขอนแก่น ผู้ครองตำแหน่งอายุยืนในปีพ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า ชอบกินข้าวกับผัก น้ำพริก ไม่กินเนื้อสัตว์ใหญ่ จะกินเฉพาะเนื้อปลา คล้ายกับนางชั้น เกตุทอง อายุ126 ปี ชาวหมู่บ้านเขาล้อ ตำบลดอนคา
อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ที่ระบุว่า ชอบกินผักและปลาเช่นกัน ที่เพิ่มเติมคือ กล้วยน้ำว้า โดยกินแทนของหวาน

ปลา เป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่าย ส่วนผักก็มีใยอาหาร ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว การขับถ่ายจึงเป็นไปโดยสะดวก ขณะที่น้ำพริกและแกงต่างๆมีส่วนประกอบของเครื่องเทศที่มีรสร้อนแรง เช่น พริก หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ ซึ่งช่วยขับลม ลดอาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ มีน้ำมันหอมระเหยช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคท้องร่วงท้องเสีย

นอกจากนี้ยังมีผักดองซึ่งมีทั้งโพรไบโอติกและกรดอินทรีย์ พบในทุกภูมิภาค ใช้เป็นเครื่องเคียงกินคู่กับน้ำพริก ขนมจีน หรือนำไปใส่ในแกง โดยผักที่นิยมนำมาดองมีหลากหลาย เช่น ผักเสี้ยน ขิง ต้นหอม หัวหอม พริก กะหล่ำปลี สะตอ ลูกเนียง และอาหารหมักดอง เช่น แหนม ปลาส้ม ปลาร้า

ส่วนของหวานแบบโบราณ เช่น ข้าวหมาก ก็มีโพรไบโอติก ช่วยสนับสนุนให้จุลินทรีย์ดีในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี ระบบขับถ่ายทำงานได้ตามปกติ

กล้วยน้ำว้าสู้โรคระบบย่อย

ฐานข้อมูลโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีระบุถึงสรรพคุณของกล้วยน้ำว้าและวิธีนำมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อบรรเทาและรักษาอาการจากโรคระบบย่อยที่พบบ่อยไว้ ดังนี้

• ท้องเดิน -ท้องเสีย ใช้กล้วยน้ำว้าดิบหรือห่าม 2 ลูกปอกเปลือกและฝานบางๆใส่น้ำ 4 แก้ว จากนั้นต้มด้วยไฟอ่อน 30 นาที ดื่มทุกครั้งที่ถ่าย หรือทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ภายใน 4 – 5 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้ดื่มทุกๆ 3 – 4 ชั่วโมง หรือวันละ 3-4 ครั้ง

• โรคแผลในกระเพาะอาหาร ใช้กล้วยน้ำว้าดิบปอกเปลือกและฝานเป็นแผ่นบางๆตากแดดให้แห้ง 2 วัน จากนั้นบดเป็นผงละเอียด ใช้ครั้งละ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ โดยนำมาชงกับน้ำอุ่น 1 แก้ว หรือใส่ในน้ำข้าว 1 แก้ว กินก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงและก่อนนอนทุกวัน

• ท้องผูก กินกล้วยน้ำว้าสุกงอม ครั้งละ 2 ลูก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร 1-2 ชั่วโมง มีคำแนะนำว่า ควรเคี้ยวให้ละเอียดด้วย

 

อยากรู้เรื่องระบบทางเดินอาหารเพิ่ม เราชวนคุณไปงานนี้

โรคระบบทางเดินอาหาร


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

รวมวิธีกินกล้วยที่ดีที่สุด รักษา 6โรคยอดฮิต ระบบย่อยอาหาร

12 ปัจจัยใกล้ตัว ทำร้ายระบบย่อยอาหาร

5 เทคนิคการกิน ช่วยเรื่อง ระบบย่อยอาหาร

เช็คโรคและอาการ ระบบย่อยอาหาร

 

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.